เปิดแล้ว Field Day สตูล สุดยิ่งใหญ่! เกษตรกรแห่เรียนรู้แน่น

เริ่มแล้ว Field Day จังหวัดสตูล กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 25๖3 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอละงู หมู่ที่ 6 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล
โดยมีนายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานเปิดงาน ในวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2563 และมีนายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา นายวิฑูร อินทรมณี เกษตรจังหวัดสตูล ให้การต้อนรับและร่วมงาน โดยมีเกษตรกรและผู้ร่วมงานคึกคักกว่า 500 คน
นายสุพิท จิตรภักดี กล่าวว่า จากสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ในขณะเดียวกันพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกรรายย่อย ยังมีการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตรตลอดจนโอกาสการเข้าถึงข้อมูล แหล่งทุน ทรัพยากร และการตลาดได้น้อย ที่สำคัญที่สุดพี่น้องเกษตรกรยังทำการเกษตรในลักษณะต่างคนต่างทำ ผลิตสินค้าไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ขาดการรวมกลุ่ม จึงทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิต รัฐบาลมีความตระหนัก และเข้าใจในปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรต้องเผชิญอยู่
จึงมีนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับสินค้าหลักและเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ หรือ Zoning โดยมีองค์ประกอบของศูนย์ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบ แปลงเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ สำหรับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่หน่วยงานราชการส่งเสริมกับภูมิปัญญาของเกษตรกร
และได้มีการประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมอย่างเฉพาะเจาะจงกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ จึงได้จัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมของพี่น้องเกษตรกร ก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2563 โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีองค์ความรู้เพื่อวางแผนการผลิต เข้าถึงปัจจัยการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งหากสามารถทำให้เกษตรกร นำองค์ความรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ไปประยุกต์ใช้จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี
การจัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จะดำเนินการในทุกอำเภอของภาคใต้ จำนวน 151 อำเภอ ขอให้เกษตรกรเข้าร่วมและสอบถามข้อมูลได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัด
นายวิฑูร อินทรมณี เกษตรจังหวัดสตูล กล่าวเสริมว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอละงู มีสินค้าหลัก คือข้าว ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่อำเภอละงู ส่วนใหญ่มีการทำนาเป็นอาชีพหลัก จังหวัดได้ส่งเสริมให้ดำเนินการเป็นแปลงใหญ่ข้าว มีสมาชิกจำนวน 106 ราย พื้นที่ 596 ไร่ เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 900 บาทต่อไร่ เพิ่มผลผลิตได้ 75 กิโลกรัมต่อไร่
พันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนิยมใช้ คือ พันธุ์ปทุมธานี 1 การจัดงานวันนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาการผลิตข้าวที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด โดยผ่านกระบวนการกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มส่งเสริมอาชีพ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีการพัฒนาการผลิตข้าวในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาคุณภาพผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การผลิตนำการเกษตร (การพัฒนาตลาดโดยเน้นตลาดออนไลน์)
เทคโนโลยีที่นำมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร จำนวน 5 ประเด็น โดยผ่านสถานีเรียนรู้ต่าง ๆ ดังนี้
- การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ซึ่งมีนิทรรศการความรู้จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง การเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสม, การใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง, การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว และกระบวนการดูแลและการผลิตข้าว ถ่ายทอดความรู้โดยเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่
- การจัดการดินและปุ๋ยในนาข้าว แสดงเนื้อหาองค์ความรู้ ผ่านแปลงสาธิตและบอร์ดเรียนรู้ เช่น การจัดการดิน การใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าว การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
และความต้องการของพืช การใช้เทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกลในนาข้าว และการใช้จุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช PGPR (Plant Growth Promoting Rhizobacteria) โดยเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ - การผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบหมักแห้งและหมักน้ำ โดยการสาธิตวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุน จากเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่
- การจัดการศัตรูข้าว อาทิ การผลิตและการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา การจัดการโรคและแมลง
โดยแสดงตัวอย่างแมลงศัตรูข้าว ลักษณะการเข้าทำลายของโรคพืช โดยเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ - การแปรรูปผลผลิตข้าว อาทิ น้ำนมข้าว ข้าวเม่า ข้าวเม่าทอด และการผลิตข้าวกล้อง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและยืดอายุการเก็บรักษา